Tripoli, Invasion of; TurcoItalian War (1911–1912)

การโจมตีตริโปลี, สงครามตุรกี-อิตาลี (พ.ศ. ๒๔๕๔–๒๔๕๕)

การโจมตีตริโปลีหรือสงครามตุรกี-อิตาลีเป็นการรบที่เกิดขึ้นระหว่างราชอาณาจักรอิตาลี (Kingdom of Italy) กับจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* หรือตุรกีเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๑ ถึงวันที่ ๑๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๒ กองทัพอิตาลีได้บุกตริโปลี (Tripoli) ดินแดนของจักรวรรดิออตโตมันในแอฟริกาตอนเหนือ ซึ่งปัจจุบันคือลิเบีย (Libya) ตุรกีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และต้องลงนามในสนธิสัญญาอูชี (Treaty of Ouchy) หรือสนธิสัญญาโลซาน (Treaty of Lausanne) ค.ศ. ๑๙๑๒ โดยอิตาลีได้ครอบครองตริโปลีทั้งหมด

 ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้น คริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ประเทศมหาอำนาจยุโรปต่างพยายามขยายอำนาจและอิทธิพลตามแนวคิดลัทธิจักรวรรดินิยมใหม่ (New Imperialism)* และแข่งขันกันแสวงหาดินแดนโพ้นทะเลเพื่อตอบสนองความต้องการของตนโดยเข้าไปยึดครองดินแดนที่มีวัตถุดิบและทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและใช้เป็นตลาดระบายสินค้า รวมทั้งเพื่อเผยแพร่เกียรติภูมิของชาติ อิตาลีพยายามขยายอำนาจเข้าไปในแอฟริกาจนขัดแย้งกับฝรั่งเศสและถูกฝรั่งเศสกีดกันไม่ให้ยึดครองตูนิเซีย (Tunisia) ส่งผลให้อิตาลีต้องหันไปดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีและร่วมลงนามในสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี (Triple Alliance)* กับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* ใน ค.ศ. ๑๘๘๒ อย่างไรก็ตามอิตาลียังไม่เลิกล้มนโยบายการสร้างอาณานิคมขนาดใหญ่ในแอฟริกา ในช่วงที่ฟรันเซสโก กริสปี (Francesco Crispi)* เป็นนายกรัฐมนตรีเขาสนับสนุนนโยบายการแข่งขันด้านอาณานิคมในแอฟริกาเหนือและสามารถยึดครองแคว้นเอริเทรีย (Eritrea) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอะบิสซิเนีย (Abyssinia) ได้สำเร็จใน ค.ศ. ๑๘๘๙ และในปีต่อมาได้เข้าไปอารักขาดินแดนโซมาลี (Somali) ทางตอนใต้โซมาลีแลนด์ (Somaliland) ของอังกฤษ เมื่ออิตาลีพยายามยึดอะบิสซิเนีย แต่ล้มเหลวจนต้องถอนตัวออกจากพื้นที่นั้นใน ค.ศ. ๑๘๙๖ ความฝันของอิตาลีที่จะเป็นมหาอำนาจจักรวรรดินิยมในแอฟริกาจึงสลายลง

 อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศที่สืบเนื่องจากความแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างดินแดนทางตอนเหนือซึ่งกำลังเติบโตเป็นเขตอุตสาหกรรมกับดินแดนแดนทางตอนใต้ซึ่งเป็นเขตเกษตรกรรมที่ล้าหลัง ทำให้รัฐบาลอิตาลีภายใต้การนำของโจวันนี โจลิตตี (Giovanni Giolitti)* ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง ๕ สมัยระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๒–๑๙๒๑ ต้องหันมาทบทวนเรื่องดินแดนโพ้นทะเลอีกครั้งและดำเนินนโยบายขยายอิทธิพลเข้าไปในแอฟริกามากยิ่งขึ้น อิตาลีสนใจตริโปลีดินแดนใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมันในแอฟริกาตอนเหนือติดชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรนียน ซึ่งอิตาลีเห็นว่าเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์และต้องการยึดครองทั้งเห็นว่าการได้ตริโปลีซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันเป็นเสมือนการได้ดินแดนที่เคยสูญเสียกลับคืน

 ความต้องการตริโปลีทำให้อิตาลีหาทางยุติข้อขัดแย้งที่เคยมีกับฝรั่งเศส และสนับสนุนฝรั่งเศสในวิกฤตการณ์โมร็อกโก (Moroccan Crisis)* ใน ค.ศ. ๑๙๐๕ หลังวิกฤตการณ์ครั้งนั้น ฝรั่งเศสจึงรับรองว่าจะไม่ขัดขวางในกรณีอิตาลีเข้ายึดครองตริโปลี แต่อิตาลีก็ยังไม่กล้ารุกรานตริโปลีในขณะนั้นเนื่องจากมีปัญหาภายในประเทศและเกรงว่ามหาอำนาจชาติอื่นจะเข้าขัดขวาง อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป นโยบายยึดครองตริโปลีได้รับการสนับสนุนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากนักการเมือง นักธุรกิจ และนักอุตสาหกรรมตลอดจนชาวไร่ชาวนา เนื่องจากเห็นว่าตริโปลีอาจใช้เป็นฐานทัพเรือและเมืองท่าในการควบคุมเมดิเตอร์เรเนียนตอนกลางและต้องการที่ดินเพื่อทำธุรกิจหรือเพาะปลูกเพิ่ม หนังสือพิมพ์หลายฉบับก็ต่างประโคมลงข่าวสนับสนุนเรื่องการขยายดินแดนจนโจลิตตีเห็นความจำเป็นที่ต้องเข้ายึดครองตริโปลี เขาเริ่มหยั่งเสียงมหาอำนาจอื่น เมื่อรัสเซียและอังกฤษไม่ขัดขวางโจลิตตีจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะรุกรานจักรวรรดิออตโตมันที่กำลังอ่อนแอจนได้ชื่อว่าเป็น “คนป่วยของยุโรป” (Sick man of Europe) ทั้งเห็นว่าสงครามไม่น่าจะยืดเยื้อ ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๑๑ เขาสั่งให้กองทัพเริ่มเตรียมความพร้อม ต่อมา ในคืนวันที่ ๒๖ กันยายน ปีเดียวกัน อิตาลียื่นคำขาดให้ตุรกียกตริโปลีให้ภายใน ๒๔ ชั่วโมง แต่สุลต่านเมห์เมดที่ ๕ (Mehmed V) ทรงปฏิเสธในวันถัดมา อิตาลีจึงประกาศสงครามเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๑

 ในการโจมตีตริโปลี อิตาลีส่งกองทัพเรือพร้อมทหารราว ๔๐,๐๐๐ นาย ภายใต้การนำของนายพลการ์โล กาเนวา (Carlo Caneva) เข้าปิดล้อมเมืองตริโปลี เมืองถูกระดมยิงและถูกยึดครองเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ในขณะเดียวกัน อิตาลีส่งทหารเข้ายึดเมืองออมส์ (Homs) ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากเมืองตริโปลี โตบรุก (Tobruk) เดร์นา (Derna) และเบนกาซี (Benghazi) เมืองสำคัญริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในไซเรอเนอิกา (Cyrenaica) ไว้ได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากมีทหารเติร์กป้องกันเมืองเป็นจำนวนไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม เมื่อกองทัพอิตาลีรุกต่อเข้าไปในตัวทวีป พวกอาหรับพื้นเมืองที่อิตาลีคิดว่าอาจให้การสนับสนุนตนที่เข้ามาช่วยปลดปล่อยกลับสนับสนุนจักรวรรดิออตโตมันทั้งเห็นอิตาลีเป็นผู้บุกรุกต่างศาสนาจนนำไปสู่การต่อสู้อย่างดุเดือดที่ชาราชัต (Sciara Sciat) หมู่บ้านเล็ก ๆ ใกล้เมืองตริโปลีเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม การต่อสู้จบลงด้วยความปราชัยของอิตาลี ทหารอิตาลีราว ๕๐๐ นาย ถูกทรมานและสังหารด้วยวิธีที่เหี้ยมโหด อิตาลีจึงตอบโต้ด้วยการสังหารหมู่ชาวอาหรับพื้นเมืองในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างโหดเหี้ยม พลเรือนเสียชีวิตนับพันคนภายในเวลาเพียง ๑ สัปดาห์ การสังหารหมู่ของทั้ง ๒ ฝ่ายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก และมีส่วนทำให้ชาวอิตาลีที่ต่อต้านรัฐบาลในการทำสงครามในตริโปลีเริ่มเปลี่ยนความคิด ซึ่งรวมทั้งเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* นักหนังสือพิมพ์หัวรุนแรง ซึ่งต่อมาเป็นผู้นำพรรคฟาสซิสต์ (National Fascist Party) นอกจากการต่อต้านจากชาวอาหรับพื้นเมืองแล้ว การรุกคืบของอิตาลียังเป็นไปอย่างลำบากยิ่งขึ้นเนื่องจาก แอนเวร์ ปาชา (Enver Pasha) ผู้นำกลุ่มยังเติร์ก (YoungTurk)ได้นำทหารบางส่วนเดินทางมายังตริโปลีระหว่างเดือนตุลาคมเพื่อสู้รบแบบสงครามกองโจรรัฐบาลอิตาลีจึงส่งกองกำลัง ๑๐๐,๐๐๐ นาย มาเพิ่มในปลายเดือนตุลาคม และในวันที่ ๑ พฤศจิกายน จูลีโอ กาวอตตี (Giulio Gavotti) ได้รับคำสั่งให้นำเครื่องบินขึ้นทิ้งระเบิดในพื้นที่ใกล้เคียงเมืองตริโปลี

 ถึงแม้ว่าอิตาลีจะประกาศยึดครองตริโปลีเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๑ แต่ก็ตระหนักดีว่าการรุกเข้าไปในภาคพื้นทวีปยังไม่ประสบผลสำเร็จนอกจากนั้น ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไปตุรกียังพยายามบุกยึดเมืองริมชายฝั่งทะเลที่สูญเสียไปในช่วงต้นสงคราม เช่น เมืองเบนกาซี โตบรุกกลับคืนอย่างไรก็ตาม อิตาลีซึ่งมีกองทัพเรือที่เหนือกว่าได้วางแผนทำลายกองเรือของตุรกีตามจุดต่าง ๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดง เพื่อไม่ให้ลำเลียงทหารมายังตริโปลีและให้ยอมแพ้โดยเร็วที่สุด ในวันที่ ๗ มกราคม ค.ศ. ๑๙๑๒ กองทัพเรืออิตาลีทำลายเรือของตุรกี ๔ ลำที่จอดอยู่ที่อ่าวกุนฟูดา (Kunfuda) ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ เรือรบอิตาลีขยายพื้นที่การรบไปทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้วยการโจมตีเรือรบตุรกีบริเวณนอกชายฝั่งเบรุต (Beirut) เนื่องจากเกรงว่าศัตรูอาจเคลื่อนตัวไปปิดปากคลองสุเอซ (Suez) ตุรกีพ่ายแพ้และสูญเสียเรือรบไปเป็นจำนวนมาก ทำให้อิตาลีมีอำนาจเหนือบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนใต้ได้อย่างเด็ดขาด

 ระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม กองทัพเรืออิตาลีขยายการรบไปยังบริเวณทะเลอีเจียน (Aegean)และเข้ายึดหมู่เกาะโดเดคะนีส (Dodecanese)* ซึ่งทำให้ประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีเริ่มวิตกกังวล เนื่องจากเกรงว่าการรบที่ขยายวงกว้างขึ้นจะทำให้คาบสมุทรบอลข่านลุกเป็นไฟเพราะชนชาติในคาบสมุทรบอลข่านที่รวมตัวกันเป็นสันนิบาตบอลข่าน (Balkan League)* ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๒ ประกอบด้วยเซอร์เบีย กรีซมอนเตเนโกร และบัลแกเรีย จะเห็นเป็นโอกาสต่อต้านอำนาจของตุรกีและก่อให้เกิดความวุ่นวายในภูมิภาคนานาประเทศจึงเริ่มเรียกร้องให้อิตาลีเจรจาสงบศึกกับตุรกีให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม อิตาลียังคงส่งกำลังทหารเข้าไปเพิ่มในตริโปลีอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเพื่อรักษาเมืองตามชายฝั่งทะเลและรุกคืบเข้าไปในตัวทวีป รวมถึงใช้เรือเหาะ (airship) บินถ่ายภาพเมืองสำคัญตามชายฝั่ง เพื่อสอดส่องฐานกำลังของศัตรูเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม อิตาลีส่งเรือรบเข้าโจมตีช่องแคบดาร์ดะเนลส์ (Dardanelles)* ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตุรกี พร้อมขู่ว่าจะเปิดการโจมตีอย่างหนักอีกครั้งในเขตทะเลอีเจียน ในขณะเดียวกันระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม กองทัพอิตาลีในตริโปลีสามารถเอาชนะกองทัพตุรกีได้ในหลายจุดทำให้อิตาลีเป็นฝ่ายได้เปรียบทั้งทางบกและทางทะเล

 เมื่อตุรกีเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ สันนิบาตบอลข่านจึงเตรียมกำลังรบในช่วงเดือนกันยายนและประกาศสงครามกับตุรกีในที่สุด เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๒ ซึ่งนำไปสู่สงครามบอลข่านครั้งแรก (First Balkan War) เหตุการณ์นี้และสถานการณ์การรบที่เสียเปรียบทำให้ในท้ายที่สุดตุรกีขอเปิดการเจรจาสงบศึกกับอิตาลีช่วงกลางเดือนตุลาคมที่เมืองอูชี (Ouchy)เมืองตากอากาศริมทะเลสาบเจนีวา ชานเมืองโลซาน สวิตเซอร์แลนด์ ทั้ง ๒ ฝ่ายตกลงลงนามในสนธิสัญญาอูชีเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๒ อิตาลีได้ครอบครองมณฑลตริโปลี เฟซซัน (Fezzan) และไซเรอเนอิกา และตกลงจะถอนกำลังทหารออกจากหมู่เกาะโดเดคะนีสพร้อมกับที่ตุรกีถอนกำลังออกจากตริโปลี สงครามตุรกี-อิตาลีจึงสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาอิตาลีได้ครอบครองหมู่เกาะโดเดคะนีสโดยอ้างว่าข้อตกลงในสนธิสัญญากำหนดไว้ไม่ชัดเจนและการที่ตุรกีเข้าร่วมสงครามกับมหาอำนาจกลางในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ก็ทำให้อิตาลีคงกองกำลังไว้ที่หมู่เกาะโดเดคะนีสจนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ด้วยส่วนตุรกีก็ยังคงสนับสนุนให้ชาวอาหรับพื้นเมืองทำสงครามต่อต้านอำนาจของอิตาลีต่อไป ส่งผลให้อิตาลีต้องคงกองทัพจำนวนมากไว้ในตริโปลีเพื่อปราบปรามชาวอาหรับพื้นเมือง ในสงครามครั้งนี้ ทหารอิตาลีจำนวนมากสูญเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บมากกว่าถูกสังหารด้วยกระสุน ส่วนรัฐบาลอิตาลีต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในสงครามประมาณกว่า ๕๒๗ ล้านลีร์ สงครามตุรกี-อิตาลี ค.ศ. ๑๙๑๑–๑๙๑๒ จึงมีส่วนทำให้เกิดบรรยากาศอันตึงเครียดทางการเมืองในยุโรปซึ่งแผ้วทางไปสู่การเกิดสงครามใน ค.ศ. ๑๙๑๔ ด้วย

 ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ อิตาลีร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรและต้องดึงกำลังทหารกลับมาร่วมรบในยุโรป จึงทำให้เสียเมืองสำคัญไปเกือบหมด คงเหลือเพียงเมืองตริโปลีและออมส์ ต่อมา เมื่อมุสโสลีนีขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ พรรคฟาสซิสต์ชูนโยบายขยายที่ทำกินในต่างแดนทำให้อิตาลีส่งทหารเข้าไปปราบปรามชาวอาหรับพื้นเมืองอย่างจริงจังพร้อมทั้งกระตุ้นให้ชาวอิตาลีย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานในตริโปลี เมื่อมีชาวอิตาลีเข้าไปตั้งรกรากในตริโปลีมากขึ้น ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ รัฐบาลฟาสซิสต์จึงเปลี่ยนชื่อตริโปลีเป็น “ลิเบีย” ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวกรีกโบราณใช้เรียกบริเวณแอฟริกาเหนือทั้งหมดเพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของชาติตน ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ อิตาลีซึ่งเป็นฝ่ายอักษะพ่ายแพ้ในการรบใน ค.ศ. ๑๙๔๓ ตริโปลีและไซเรอเนอิกาจึงตกไปอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ และเฟซซันเป็นเขตปกครองของฝรั่งเศสจนกระทั่งทั้ง ๓ มณฑลได้รับเอกราชใน ค.ศ. ๑๙๕๑.



คำตั้ง
Tripoli, Invasion of; TurcoItalian War
คำเทียบ
การโจมตีตริโปลี, สงครามตุรกี-อิตาลี
คำสำคัญ
- กริสปี, ฟรันเซสโก
- กลุ่มยังเติร์ก
- คนป่วยของยุโรป
- โจลิตตี, โจวันนี
- พรรคฟาสซิสต์
- มหาอำนาจกลาง
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ลัทธิจักรวรรดินิยม
- ลัทธิจักรวรรดินิยมใหม่
- วิกฤตการณ์โมร็อกโก
- สงครามบอลข่าน
- สงครามบอลข่านครั้งแรก
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี
- สนธิสัญญาโลซาน
- สนธิสัญญาอูชี
- สันนิบาตบอลข่าน
- หมู่เกาะโดเดคะนีส
- ออสเตรีย-ฮังการี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1911–1912
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๕๔–๒๔๕๕
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
คัททิยากร ศศิธรามาศ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-